รังสีอัลตราไวโอเลตคืออะไร มารู้ประโยชน์และวิธีป้องกันต่อร่างกาย
รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพผิว หลายคนอาจเข้าใจว่าหากอยู่ในร่มจะสามารถหลีกเลี่ยงรังสีเหล่านี้ได้ แต่ในความเป็นจริง รังสี UV สามารถทะลุผ่านเข้ามาทำร้ายผิวได้แม้อยู่ภายในอาคารหรือบ้านก็ตาม นอกจากนี้ แสงพลังงานสูง หรือ High Energy Visible Light (HEV) จากหลอดไฟ หน้าจอคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ ยังส่งผลเสียต่อผิวโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับรังสีอัลตราไวโอเลตจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้สามารถป้องกันผิวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รังสีอัลตราไวโอเลต UV คืออะไร?
รังสีอัลตราไวโอเลต (UltraViolet) หรือที่เรียกย่อว่า UV เป็นรังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความยาวคลื่นระหว่าง 100 ถึง 400 นาโนเมตร ซึ่งอยู่นอกเหนือขอบเขตการมองเห็นของมนุษย์ (Visible Light) โดยมีชื่อภาษาไทยเรียกว่า รังสีเหนือม่วง รังสีอัลตราไวโอเลต UV แบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่: UVA, UVB และ UVC
- UVA (ความยาวคลื่น 320 – 400 นาโนเมตร) สามารถทะลุเข้าสู่ผิวหนังชั้นลึก ทำให้เกิดริ้วรอยก่อนวัย
- UVB (ความยาวคลื่น 290 – 320 นาโนเมตร) มีพลังงานสูง ทำให้เกิดผิวไหม้แดดและเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งผิวหนัง
- UVC (ความยาวคลื่น 100 – 290 นาโนเมตร) ถูกชั้นโอโซนดูดซับไว้ ไม่สามารถทะลุถึงพื้นโลก
ในปัจจุบัน รังสี UV ที่มาถึงพื้นโลกประกอบด้วย UVA 90% และ UVB 10% ซึ่งสามารถส่งผลเสียต่อผิวได้หากไม่ได้รับการป้องกันที่เหมาะสม สำหรับแสง UVC จากดวงอาทิตย์จะถูกกันจากชั้นโอโซนของบรรยากาศหมด จึงไม่ลงมาถึงโลกเรา
แหล่งที่มาของรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) มาจากไหนได้บ้าง
- แสงจากดวงอาทิตย์
- หลอดไฟ Black light Blue (BLB) หรือแสงจากหลอดไฟต่างๆภายในบ้าน
- Short wave UV lamp ที่ใช้ในทางการแพทย์เพื่อฆ่าเชื้อโรค
- UV laser มีทั้งที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม การแกะสลัก ทางการแพทย์ และอื่นๆ
- แสงที่ออกมากับการเชื่อมโลหะต่างๆ
- แสงจากจอคอมพิวเตอร์ หรือ แสงสีฟ้าที่ทะลุออกมาจากจอสกรีน