ปัจจุบันเราจะได้ยินคนพูดถึง “แสงสีฟ้า” ใน Visible Light กันบ่อย ๆ เชื่อว่ายังมีหลายคนที่อยากรู้เพิ่มเติม บทความนี้จึงอยากให้ผู้อ่านทำความรู้จัก “แสงสีฟ้า” ไปพร้อม ๆ กันนะคะ
Visible Light คืออะไร
Visible Light คือ คลื่นแสงจากดวงอาทิตย์ที่เราสามารถมองเห็นได้จะอยู่ในช่วงความยาวคลื่น 400-700 นาโนเมตร เราเรียกว่า Visible light (VL)
แสงสีฟ้า (Blue Light) คืออะไร
ส่วนคลื่นแสงสีฟ้า (Blue light) จะมีความยาวคลื่น 400-490 นาโนเมตร จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของ VL (Visible light) อาจเรียกว่า HEVIS (High Energy Visible light) เพราะด้วยความที่ความยาวคลื่นสั้นที่สุด จึงมีพลังงานมากสุดในช่วงคลื่นแสงที่มองเห็น
แหล่งกำเนิดหลักของ HEVIS นอกจากดวงอาทิตย์แล้ว เรายังสามารถพบแหล่งกำเนิดแสงสีฟ้าได้จากที่อื่น ๆ ได้แก่ ทีวี จอคอมพิวเตอร์ จอโทรศัพท์มือถือ เครื่องฉายโปรเจคเตอร์ แหล่งกำเนิดแสงหรือเครื่องมือเลเซอร์บางชนิด แฟลชกล้องถ่ายรูป Light Emitting Diodes (LEDs) รวมถึงแสงไฟฟลูออเรสเซนต์ เป็นต้น
ผลกระทบจากรังสี Visible Light และ HEVIS ที่มีต่อผิวหนัง
- รังสี Visible light (VL) จากดวงอาทิตย์ สามารถกระตุ้น Opsin-3 ส่งผลให้มีการสร้างเม็ดสีผิวมากขึ้น ฝ้าและรอยดำต่าง ๆ เข้มขึ้นกว่าเดิมได้ จึงแนะนำว่าใครที่มีฝ้าหรือรอยดำสิว หรือรอยดำจากสาเหตุอื่น ๆ ควรเลือกครีมกันแดดที่ป้องกัน Visible Light ร่วมด้วย
แต่กรณี HEVIS จากอุปกรณ์และเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้น (ที่ไม่ใช่มาจากดวงอาทิตย์) มีความเข้มข้นน้อยกว่า Visible Light จากดวงอาทิตย์มาก ๆ และพบว่าไม่ทำให้เกิดฝ้า รวมทั้งไม่ได้ทำให้ฝ้าที่มีอยู่เดิมเข้มขึ้น - HEVIS สามารถทำให้ผิวแก่ก่อนวัย (Photoaging) ได้ จากการกระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระ ROS ไปทำร้ายผิวหนัง นอกจากนั้น การที่ HEVIS มีความยาวคลื่นมากกว่ารังสียูวี จึงสามารถทะลุชั้นผิวลงลึกกว่ารังสียูวีเพื่อไปทำลาย DNA ของเซลล์ผิวได้อีกด้วย
- HEVIS ทำให้สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) ที่ผิวลดลง ส่งผลให้กำแพงผิวถูกทำลายได้ง่าย ผลที่ตามมา คือ ผิวแห้งอักเสบ ส่งผลให้เกิดรอยดำและสีผิวไม่สม่ำเสมอตามมา
คำแนะนำวิธีเลือกสกินแคร์ดูแลผิวเพื่อลดอันตรายจากรังสี UV และ HEVIS ดังนี้
เลือกใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีสารกันแดดได้ทั้งรังสี UV และ HEVIS
เลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนผสมของ antioxidants เพื่อลดการทำร้ายผิวจากสารอนุมูลอิสระ เช่น vitamin C, E, CoQ10, licochalcone A, Glycyrrhetinic acid (GA) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แสงสีฟ้าในความยาวคลื่นและความเข้มข้นปริมาณที่เหมาะสม ยังมีในแง่มุมที่มีประโยชน์ต่อผิว โดยมีการนำมาใช้ในการรักษาภาวะทางผิวหนัง เช่น สะเก็ดเงิน, สิว, ผิวหนังอักเสบ หรือ มะเร็งผิวหนังบางชนิด หรือใช้ในนวัตกรรมเพื่อฟื้นฟูสภาพผิว (Photorejuvenation) เป็นต้น
อันตรายจากแสงสีฟ้าที่อยู่ในธรรมชาติ
ในเรื่องของการเจอเผชิญ HEVIS จากแหล่งที่ไม่ใช่ดวงอาทิตย์เป็นประจำและเป็นเวลานาน เช่น ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ถ่ายแบบเจอแฟลช หรือเซลฟี่ดูมือถือนาน ๆ ในระยะสั้นไม่มีข้อมูลพบว่าทำให้เกิดผิวแก่ก่อนวัย แต่มีบางรายงานว่าหากต้องเผชิญต่อเนื่องเป็นประจำ สามารถทำให้ผิวแก่ก่อนวัยได้จากการกระตุ้นอนุมูลอิสระไปทำร้ายผิวมากขึ้นได้
ดังนั้น หากใครที่มีกิจวัตรที่ต้องเผชิญกับ HEVIS อย่างต่อเนื่องเป็นประจำ ควรให้ความสำคัญในการปกป้องผิวจากแสงสีฟ้าให้มากขึ้น โดยเฉพาะแสงสีฟ้าจากแหล่งกำเนิดดวงอาทิตย์ และอย่าลืมว่าถึงแม้ในวันที่อากาศขมุกขมัว มีเมฆหมอกปกคลุม ก็ยังมีรังสี UV และ HEVIS ทะลุมาถึงผิวหนังเราได้เช่นกันค่ะ
บทความโดย พญ.วรายุวดี อมรภิญโญ (หมอเจี๊ยบ) อายุรแพทย์โรคผิวหนัง
ผู้ก่อตั้งเวบไซต์ www.helloskinderm.com และ เฟสบุ๊คเพจ HELLO SKIN by หมอผิวหนัง
References
Skin Pharmacol Physiol 2022;35:305–318.
J Cosmet Dermatol. 2021 Mar;20(3):714-717.
Int J Cosmet Sci. 2019;41(6):558-562.