“โรคลมพิษ” เป็นปฏิกิริยาการแพ้รูปแบบหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากอาหาร ยา และการติดเชื้อ รวมถึงปัจจัยภายในจะแสดงอาการด้วยผื่น บวม แดง นูนขึ้นมา อาจจะมีอาการคันหรือแสบ มักเกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมง หลังการกระตุ้น โดยส่วนใหญ่ผื่นจะหายไปภายใน 24 ชั่วโมง
โรคลมพิษ คืออะไร?
โรคลมพิษ (Urticaria) เป็นโรคที่ผิวหนังมีลักษณะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง ไม่มีขุย มีขนาดต่าง ๆ ได้ตั้งแต่ 0.5-10 ซม. มีอาการคัน เกิดขึ้นเร็วและกระจายตามตัว แขนขา แต่ละผื่นมักจะคงอยู่ไม่นาน โดยมากมักไม่เกิน 24 ชั่วโมง ผื่นนั้นก็จะราบไปโดยไม่มีร่องรอย แต่ก็อาจมีผื่นใหม่ขึ้นที่อื่น ๆ ได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีริมฝีปากบวม (Angioedema) บางรายอาจมีอาการปวดท้อง แน่นจมูก หลอดลมขยายตัว หายใจไม่สะดวก รายที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการหอบหืด เป็นลมจากความดันโลหิตต่ำได้ แต่ก็พบน้อยมาก
ประเภทของลมพิษ
- ลมพิษเฉียบพลัน (acute urticaria) โดยอาการผื่นลมพิษจะเกิดต่อเนื่องกันไม่เกิน 6 สัปดาห์
- ลมพิษเรื้อรัง (chronic urticaria) จะมีอาการผื่นลมพิษเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยเกิดต่อเนื่องกันมากกว่า 6 สัปดาห์
สาเหตุของการเกิดลมพิษ
- อาหาร เช่น อาหารทะเล สารกันบูด สีผสมอาหารบางชนิด
- ยา โดยร่างกายเกิดปฏิกิริยาการแพ้ยาบางชนิด
- การติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือมีพยาธิ
- ระบบต่อมไร้ท่อ เช่น โรคต่อมไทรอยด์
- อิทธิพลทางกายภาพ โดยผู้ป่วยบางรายอาจเกิดผื่นลมพิษจากปฏิกริยาของผิวหนังที่ตอบสนองผิด ปกติต่อความร้อน ความเย็น น้ำหนักกดรัด แสงแดด หรือการออกกำลังกาย เป็นต้น
- แพ้สารที่สัมผัส ผื่นลมพิษเกิดขึ้นในตำแหน่งที่ผิวหนังสัมผัสกับสารที่แพ้ เช่น การแพ้ยา (Iatex) ขนสัตว์ พืช หรืออาหารบางชนิด เป็นต้น
- ปฏิกิริยาแพ้พิษแมลง เช่น ปฏิกิริยาที่เกิดจากผึ้งหรือต่อต่อย
- มะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือระบบอื่นๆ ของร่างกาย
- ระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเอง ผู้ป่วยลมพิษบางรายเกิดจากการมีภูมิคุ้มกันไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารเคมีบางชนิดออกมาที่ผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นลมพิษขึ้น
การรักษาโรคลมพิษ
1. ใช้ยาต้านฮีสตามีน
ซึ่งมีตัวยาหลายกลุ่ม การจะเลือกใช้ยาตัวใดขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ การตอบสนองต่อยาต้านฮีสตามีนในผู้ป่วยแต่ละรายอาจไม่เหมือนกัน ผู้ป่วยบางรายใช้ยาเพียงตัวเดียวก็ได้ผลดี แต่บางรายแพทย์อาจต้องเปลี่ยนไปใช้ยาต้านฮีสตามีนในกลุ่มอื่น หรือใช้ยาหลายตัวร่วมกัน เพื่อควบคุมอาการ
2. ทาคาลาไมน์โลชั่น
การทาคาลาไมน์ บริเวณผิวที่เกิดลมพิษเพื่อป้องกันการคันและติดเชื้อตามมาได้ หากไม่มีคาลาไมน์โลชั่น สามารถใช้ครีมทาผิวอื่นๆ ที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอมใช้แทนได้
เมื่อเป็นโรคลมพิษ ควรปฏิบัติตัวอย่างไร
- ควรออกจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงหรือสิ่งเร้าที่กระตุ้นให้เกิดอาการ
- ไม่ควรสัมผัสกับผื่นลมพิษโดยตรง
- ทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือ แล้วเช็ดให้แห้ง
- ทายาแก้อาการลมพิษหรือรับประทานยาให้ครบ
- ไม่ควรเครียด วิตกกังวล และควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ
วิธีป้องกันอาการลมพิษที่ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงหรือสิ่งเร้าต่างๆ รอบตัว เช่น อาหาร ยา สารกระตุ้น หรือสิ่งแวดล้อมต่างๆ หากคุณมีประวัติของการเกิดลมพิษจึงควรสังเกตตัวเองอยู่เสมอ ระมัดระวังการใช้ยาให้ถูกต้องและเหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวต่างๆ ที่ต้องใช้ยาในการรักษาโรคเป็นประจำ นอกจากนี้ ควรหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และยังเป็นการช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรงยิ่งขึ้นอีกด้วย
คำถามที่พบบ่อย (2)
-
เป็นลมพิษ ห้ามทานอะไร?
ลมพิษสัมพันธ์กับอาการแพ้ อาหารที่ผู้ป่วยมีอาการแพ้ควรหลีกเลี่ยงเด็ดขาดและอาหารที่อาจส่อว่ามีการแพ้ ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน
-
เป็นลมพิษ ต้องไปหาหมอไหม?
ลมพิษแม้จะสามารถหายได้เองในกรณีที่เป็นชนิดเฉียบพลัน แต่การพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของลมพิษจะเป็นการรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดลมพิษเรื้อรังและเป็นการปกป้องสุขภาพตั้งแต่ต้นเหตุ