สิว เกิดจากอะไร รักษาปัญหาสิวอย่างไรดี

อ่านแล้ว 1 นาที
แสดงบทความเพิ่มเติม
วิธีรักษาสิว

“สิว” จัดเป็นปัญหากวนใจเรื้อรัง และอาจส่งผลกระทบต่อผิวหนังในระยะยาว เช่น รอยสิว ไปจนถึงแผลเป็นหลุมสิว นอกจากนี้ในบางรายที่เป็นสิวรุนแรงอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจ ทำให้ขาดความมั่นใจได้ รอยโรคของสิวมีอยู่หลายรูปแบบ ได้แก่ สิวอุดตัน สิวอักเสบที่เป็นตุ่มแดง ตุ่มหนอง ไปจนถึงสิวอักเสบขนาดใหญ่

 

โดยสิวมักจะเริ่มต้นเกิดขึ้นในช่วงของวัยรุ่น ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ที่หลายคนอาจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงนี้จนกระทั่งถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งวัยรุ่นประมาณ 80-90% มักมีปัญหาสิว และใน 20-30% ของคนเหล่านี้ต้องการการดูแลและคำแนะนำในการรักษาจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังโดยเฉพาะ โดยการรักษาจะถูกแบ่งตามระดับความรุนแรงของสิวและประเภทของสิว การเข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดสิว การดูแลรักษาสิวที่เหมาะกับสภาพผิวและความรุนแรงของสิว รวมไปถึงการเลือกใช้เวชสำอางที่เหมาะสม จะช่วยให้การรักษาสิวมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

สิว เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

สิว นั้นมีสาเหตุเกิดมาจากปัจจัยภายในร่างกาย 4 ปัจจัยหลัก ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจส่งผลให้เกิดวงจรการเกิดสิวต่อเนื่องและรุนแรงได้

  1. การอุดตันของรูขุมขน โดยเกิดจากเซลล์หนังกำพร้าชั้นนอกสุด มีการหนาตัวขึ้นผิดปกติ ร่วมกับเกิดความผิดปกติของกระบวนการผลัดเซลล์ผิว ทำให้เกิดการอุดตันบริเวณรูขุมขน จนทำให้เกิดการสร้างสิวอุดตันขนาดเล็กขึ้น
  2. ความผิดปกติของต่อมไขมัน โดยปกติแล้วต่อมไขมันจะผลิตไขมันหล่อเลี้ยงบริเวณผิวหนังโดยมีปริมาณและส่วนประกอบของไขมันที่เหมาะสม แต่ในผู้ป่วยที่เป็นสิวจะเกิดความผิดปกติของส่วนประกอบของไขมันบริเวณผิวหนัง ร่วมกับมีการสะสมของไขมันบริเวณรูขุมขนที่เกิดการอุดตันเพิ่มมากขึ้น
  3. เชื้อแบคทีเรีย Cutibacterium acnes (C.acnes) หรือชื่อเดิมคือ Propionibacterium acnes (P.acnes) ซึ่งเป็นเชื้อที่เจริญและอาศัยอยู่บริเวณรูขุมขน ในผู้ป่วยที่เป็นสิวมีการสะสมของเซลล์ผิวหนังและไขมันบริเวณรูขุมขนที่อุดตันมากขึ้น ส่งผลให้มีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะสมกับการเพิ่มจำนวนของเชื้อแบคทีเรียในบริเวณรูขุมขนที่มีการอุดตัน ทำให้เกิดสิวขึ้นในที่สุด
  4. การอักเสบบริเวณรูขุมขน ผู้ป่วยสิวที่มีการสะสมของเซลล์ผิวหนัง ไขมัน และเชื้อแบคทีเรีย Cutibacterium acnes บริเวณรูขุมขน มากขึ้นจนทำให้เกิดสิวอุดตันเริ่มมีการขยายตัวใหญ่มากขึ้นจนทำให้แตกออกสู่ผิวหนังบริเวณข้างเคียง และกระตุ้นให้เกิดการอักเสบขึ้น ทำให้มองเห็นจากภายนอกเป็นสิวอักเสบที่มีอาการปวด บวม และกดเจ็บ

 

นอกจากปัจจัยภายในแล้ว ยังมีปัจจัยภายนอกร่างกายอีกมากมาย ที่อาจส่งผลให้เกิดสิวได้ เช่น การรับประทานอาหารบางชนิด, การรับประทานยาหรืออาหารเสริมบางชนิด, การใช้ผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอางที่มีฤทธิ์กระตุ้นการเกิดสิว, การกดทับหรือเสียดสีบริเวณผิวหนังบ่อยๆ จากภายนอก, การใส่หน้ากากต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน หรือการกระตุ้นสิวจากการประกอบอาชีพบางชนิด

 

Did you know ? รู้หรือไม่ ?

การเกิดรอยดำ (post-inflammatory hyperpigmentation; PIH) และรอยแดงจากสิวหลังการอักเสบ (post-acne erythema) คือการเปลี่ยนแปลงของสีผิวบริเวณที่เป็นสิว ภายหลังการเกิดการอักเสบของสิวที่รุนแรง และรอยสิวจะค่อยๆ จางลงเมื่อเวลาผ่านไป แต่ปัญหารอยสิว หากมีการเริ่มดูแลที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่นๆ จะทำให้รอยดำหรือรอยแดงที่เกิดจากสิวจางลงได้รวดเร็วมากขึ้น โดยมีวิธีดูแลได้หลากหลาย เช่น การใช้ครีมที่มีฤทธิ์ช่วยลดรอยสิว หรือการรักษารอยสิวด้วยเลเซอร์ เป็นต้น

รักษาสิว ควรเริ่มต้นอย่างไร

รักษาสิว ควรเริ่มต้นอย่างไร ?

ขั้นตอนแรกก่อนการเริ่มรักษาสิว คือการประเมินระดับความรุนแรงของสิวและสภาพผิวหนังเบื้องต้น เพื่อให้ทราบว่าปัญหาสิวที่กำลังเผชิญอยู่นั้น ควรมีแนวทางการรักษาที่เหมาะสมอย่างไร โดยระดับความรุนแรงของสิวสามารถแบ่งระดับตามความรุนแรงได้ดังนี้

 

สิวระดับรุนแรงน้อย

คือ สิวอุดตัน ร่วมกับการเกิดสิวอักเสบขึ้นไม่เกิน 10 จุด บนใบหน้า โดยความรุนแรงระดับนี้สามารถรักษาสิวด้วยตัวเองได้ ด้วยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า สกินแคร์ที่เหมาะสำหรับผิวที่มีปัญหาสิว มีส่วนผสมของสารสำคัญที่ช่วยลดการเกิดสิว หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความมันเหนอะหนะ และก่อให้เกิดสิว

 

สิวระดับปานกลาง

คือ สิวที่มีลักษณะบวมแดง เป็นตุ่มแดงหรือตุ่มหนอง โดยกระจายบริเวณกว้างจำนวนมากกว่า 10 จุด การรักษาสิวในระดับนี้อาจต้องเข้ารับการรักษาโดยการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์ผิวหนังตั้งแต่ระยะแรกที่เริ่มเป็นสิว เพื่อให้ได้รับคำแนะนำเรื่อง วิธีรักษาสิวที่เหมาะสม เพราะในบางกรณีอาจมีการใช้ยารับประทานเพื่อรักษาร่วมด้วย

 

สิวมีความรุนแรงมาก

คือ สิวที่มีลักษณะบวมแดง เป็นตุ่มหนอง ร่วมกับตุ่มแดงนูนขนาดใหญ่ กระจายบริเวณกว้างจำนวนมาก การรักษาสิวในระดับนี้อาจต้องเข้ารับการรักษาโดยการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือแพทย์ผิวหนังตั้งแต่ระยะแรกที่เริ่มเป็นสิว เพื่อให้ได้รับคำแนะนำเรื่องวิธีรักษาสิวที่เหมาะสม เพราะในบางกรณีอาจมีการใช้ยารับประทานเพื่อรักษาร่วมด้วย

วิธีรักษาสิว

ขั้นตอนการรักษาสิว

หลังจากประเมินความรุนแรงของสิวเบื้องต้นแล้ว จะเห็นได้ว่า ความรุนแรงของสิวแต่ละประเภท มีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการดูแลผิวหน้าและการเลือกผลิตภัณฑ์เวชสำอางที่เหมาะสมสำหรับคนเป็นสิว ก็ยังมีส่วนสำคัญให้การรักษาสิวมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ได้อีกด้วย

 

การรักษาสิวโดยใช้ยาทา

การเลือกรักษาสิวด้วยยารักษาสิว หรือยาแต้มสิว ควรเลือกให้เหมาะสมกับระดับความรุนแรงและประเภทของสิวที่เป็น ในกรณีที่เป็นสิวแบบความรุนแรงน้อย อาจพิจารณาใช้ยาทา benzoyl peroxide หรือยาในกลุ่ม retinoid โดยอาจพิจารณาร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะในรูปแบบทา แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะรูปแบบทาเพียงตัวเดียว เพราะอาจเกิดการดื้อยาได้ หากสิวที่เป็นมีความรุนแรงระดับปานกลาง หรือรุนแรงมาก แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้การรักษาสิวที่เหมาะสมต่อไป

 

การรักษาสิวด้วยเลเซอร์

นอกเหนือจากการรักษาด้วยยาทา หรือยารับประทานแล้ว เลเซอร์บางชนิดอาจมีบทบาทในการช่วยรักษาสิวได้ เช่น การใช้เลเซอร์สำหรับรักษารอยแดง หรือรอยแดงภายหลังการเกิดสิวอักเสบ การใช้แสงหรือเลเซอร์บางชนิดที่ช่วยลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียบริเวณรูขุมขน หรือการใช้เลเซอร์ที่ออกฤทธิ์ช่วยลดการสร้างไขมันจากต่อมไขมันบริเวณรูขุมขน เป็นต้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินและรับการรักษาที่เหมาะสมสำหรับสภาพผิวแต่ละคน

 

การดูแลรักษาความสะอาดผิวหน้า

การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสำหรับคนที่เป็นสิว ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง หรือก่อให้เกิดสิวเพิ่มเติม หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีเม็ดทำความสะอาดในขณะที่มีสิวอักเสบ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดความระคายเคืองมากขึ้นได้ โดยอาจพิจารณาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบเนื้อเจล ทำความสะอาดบริเวณผิวหน้าวันละ 1-2 ครั้ง ด้วยความอ่อนโยน

 

การบำรุงผิวด้วยครีมบำรุง

การรักษาสิวด้วยยาบางชนิด อาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดผิวหนัง แสบ แห้ง แดง ลอกได้ จึงแนะนำให้ใช้ร่วมกับเวชสำอางบำรุงผิวหนังที่มีสารช่วยลดการอักเสบ หรือสารที่ช่วยออกฤทธิ์เสริมกับยารักษาสิวโดยเฉพาะ ก็จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาสิว ช่วยลดอาการระคายเคืองผิวและผิวแห้งลอกที่เป็นผลข้างเคียงจากใช้ยารักษาสิวได้ ช่วยฟื้นฟูเกราะป้องกันผิว ทำให้ผิวหนังแข็งแรงขึ้น และลดโอกาสเกิดปัญหาผิวที่เกิดจากการใช้ยารักษาสิวมาตรฐานได้

 

ปกป้องผิวจากแสงแดดเสมอ

สุดท้ายคือการปกป้องผิวจากแสงแดดด้วยการทาผลิตภัณฑ์ปกป้องผิวจากแสงแดดเสมอ เนื่องจากยารักษาสิวบางชนิดอาจทำให้ผิวบอบบาง และไวต่อแสงได้ จึงควรใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดเป็นประจำทุกวันเพื่อลดปัญหาการอักเสบและรอยดำรอยแดงในอนาคต

การดูแลรอยสิวหลังจากการรักษาสิว

หากไม่ได้รับการรักษาสิวอย่างเหมาะสม อาจส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องตามมา เช่น รอยสิว หรือแผลเป็นหลุมสิว เป็นต้น โดยปัญหากวนใจอับดับต้น ๆ ที่ตามมาหลังจากเป็นสิว คือ รอยสิว โดยเมื่อพิจารณาจากสีที่เกิดขึ้นสามารถแบ่งออกเป็นรอยแดง และรอยดำ ในกรณีที่เป็นรอยแดงสิวอาจพิจารณารักษาด้วยเลเซอร์บางชนิดที่ช่วยในการลดรอยแดงสิวได้ สำหรับรอยดำสิวอาจพิจารณารักษาด้วยยาทาในกลุ่มที่ช่วยยับยั้งเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างเม็ดสี ซึ่งอาจต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ผิวหนังเฉพาะทาง หรืออาจพิจารณาใช้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเวชสำอางที่มีส่วนประกอบสำคัญบางชนิดซึ่งมีส่วนช่วยยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีบริเวณรอยดำสิวได้ เช่น vitamin C, kojic acid, niacinamide หรือ Isobutylamido thiazolyl resorcinol (ITR) เป็นต้น นอกจากนี้การดูแลตัวเองในปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือจากยาทาหรือการใช้เวชสำอางก็มีส่วนสำคัญในการช่วยลดรอยดำสิวได้ เช่น การหลีกเลี่ยงการแกะเกาบริเวณสิวอักเสบ การหลีกเลี่ยงแสงแดด และการใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่เหมาะสม เป็นต้น หากดูแลเบื้องต้นแล้วรอยดำสิวยังไม่ดีขึ้น การรักษาด้วยเลเซอร์บางชนิด หรือการผลัดเซลล์ผิวด้วยกรดอ่อนโดยแพทย์ผิวหนังเฉพาะทางอาจมีส่วนช่วยในการรักษารอยดำสิวได้

 

จะเห็นได้ว่าสิวนั้น มีปัจจัยกระตุ้นจากทั้งภายในและภายนอกร่างกาย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจในระยะยาวได้ การดูแลตัวเองและการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมอาจมีส่วนช่วยในการลดรอยดำที่เกิดจากสิวได้

 

ผู้เขียน :

อ.นพ.ณัฐชาต จุไรรัตนาภรณ์

Instagram: @drnatthachat

https://www.instagram.com/drnatthachat