การนอนหลับเป็นปัจจัยสำคัญของการดำรงชีวิต หากมีการนอนหลับพักผ่อนที่เหมาะสม และเพียงพอ จะส่งผลให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง สดชื่นแจ่มใส อารมณ์ไม่แปรปรวน แต่ในบางคนอาจพบว่าตัวเองมีภาวะหลับยาก หลับไม่สนิท หรือ หลับๆ ตื่นๆ ตลอดทั้งคืน หรือแม้กระทั่งการตื่นเร็วกว่าเวลาที่ควรจะตื่น และง่วงนอนให้เวลากลางวัน ซึ่งสาเหตุอาจมีได้หลายปัจจัย ซึ่งหากพบว่ามีภาวะนอนไม่หลับ ติดต่อกันเป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์ควรปรึกษาแพทย์
โรคนอนไม่หลับ คืออะไร และแบ่งได้กี่ชนิด
โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) คือ ภาวะความผิดปกติในวงจรการหลับ โดยสามารถแบ่งเป็นชนิดของภาวะการนอนไม่หลับ 3 ชนิด คือ
- หลับยาก โดยจะมีอาการหลับได้ แต่ต้องใช้ระยะเวลานานเป็นชั่วโมง
- หลับไม่ทน และมักตื่นกลางดึก เช่น ช่วงเย็นอาจะพอหลับได้ แต่พอตื่นแล้วก็จะกลับต่อได้ยาก หรือหลับได้ไม่นาน
- หลับๆตื่นๆ จะมีอาการลักษณะ รู้สึกคล้ายไม่ได้หลับเลยทั้งคืน เพียงแต่เคลิ้ม ๆ ไปเป็นพัก ๆ เท่านั้น โดยในแต่ละคนอาจพบภาวะการนอนไม่หลับเพียง 1 ชนิดหรือหลายชนิดก็ได้ ซึ่งผลที่ตามมาอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในเวลากลางวัน เช่น อาจรู้สึกนอนไม่เพียงพอ อ่อนแรง เพลียง่าย ปวดศีรษะ หรือไม่มีสมาธิ เป็นต้น
สาเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับ
ภาวะการนอนไม่หลับอาจจะเป็นปัญหาหลักหรืออาจจะเป็นผลจากอาการของโรคอื่น ๆ ซึ่งภาวะการนอนไม่หลับแบบเรื้อรังมักมีสาเหตุมาจากความเครียด เหตุการณ์สะเทือนใจหรืออุปนิสัยบางอย่างที่รบกวนการนอน แม้ปัญหาการนอนไม่หลับจะสามารถรักษาได้ เมื่อพบสาเหตุ แต่การรักษาก็อาจจะกินเวลาหลายปี
ปัจจัยจากด้านจิตใจ
ความเครียด หรือ ความกังวลในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สุขภาพ งาน โรงเรียน ครอบครัว หรือสถานะทางการเงิน ซึ่งอาจจะทำให้หยุดคิดไม่ได้ หลับยาก
ปัจจัยจากด้านพฤติกรรม
อาจมี นิสัยการนอนไม่เป็นเวลา การทำกิจกรรมที่ทำให้ตื่นตัวก่อนเข้านอน รวมถึง สภาพแวดล้อมที่อาจไม่เหมาะสมต่อการนอนหลับ อาจส่งผลต่อการนอนหลับได้
ปัจจัยด้านการกิน
การรับประทานอาหารเย็นมื้อใหญ่หรือปริมาณมากเกินไปก่อนเข้านอน อาจจะเกิดความรู้สึกไม่สบายตัว ตื่นนอนตอนกลางคืนเพราะภาวะกรดไหลย้อน เช่น แสบร้อนกลางอก หลอดอาหารอักเสบ หรือการดื่มชา กาแฟ ที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนก่อนนอน ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งได้
ปัจจัยด้านสุขภาพ
หากมีอาการเจ็บป่วยทางกายจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคข้ออักเสบ โรคปวดหลัง โรคทางด้านจิตใจโรควิตกกังวล หรือโรคซึมเศร้า ปัญหาด้านต่อมลูกหมากหรือกระเพาะปัสสาวะอาจทำให้ต้องตื่นขึ้นมากลางดึกเพื่อเข้าห้องน้ำ
ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม
หนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดอาการนอนไม่หลับคือ สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย เช่นการนอนในที่มีเสียงดังรบกวน หรือมีแสงสว่างมากเกินไป รวมถึงอุณหภูมิห้องที่ไม่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการนอนของเราได้ทั้งสิ้น
ปัจจัยด้านการทำงานเป็นกะ
สำหรับผู้ที่ต้องทำงานเป็นกะ มีการเปลี่ยนเวลาการทำงานอยู่เสมออาจทำให้ร่างกายไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับช่วงเวลาที่ควรนอนได้
ปัจจัยจากการใช้ยา
การใช้ยาและสารบางอย่าง อาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ ซึ่งปัจจุบันมียาหลายตัวที่ส่งผลกระทบกับการนอนหลับ เช่น ยาแก้คัดจมูก ยารักษาโรคหืด ยารักษาโรคซึมเศร้า ยารักษาโรคสมาธิสั้น ยากันชัก ถ้าเกิดปัญหาเหล่านี้จากการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์ที่เป็นเจ้าของอาการ เพื่อพิจารณาปรับปริมาณยาหรือเปลี่ยนเป็นตัวยากลุ่มอื่น
6 วิธีป้องกัน และแก้ไขปัญหา โรคนอนไม่หลับ
การป้องกันและแก้ปัญหาการนอนไม่หลับ สามารถทำได้โดยส่งเสริมสุขภาพของการนอนอาจทำได้หลายวิธี ดังนี้
- การเข้านอนให้เป็นเวลาทุกวัน และ เมื่อรู้สึกง่วงควรเข้านอนทันที โดยการเข้านอนให้เป็นเวลานั้นเหมือนกันทุกคืน ร่างกายจะสามารถจดจำเวลานอนเองได้
- หลีกเลี่ยงหรือจำกัดการนอนกลางวัน หรือการใช้ยาที่ทำให้เกิดอาการง่วงซึมในช่วงกลางวัน
- หลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ และงดนิโคติน เพราะอาจทำให้นอนไม่หลับ และลดประสิทธิภาพการนอนหลับได้
- การสร้างบรรยากาศให้ห้องนอนให้สงบ ผ่อนคลาย เหมาะแก่การนอน และปิดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด จะได้ไม่มีเสียงรบกวนขณะนอนหลับได้
- การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรือเพียงแค่ ขยับ เคลื่อนไหวร่างกายในช่วงกลางวัน จะช่วยให้นอนหลับได้สบายยิ่งขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังหนักก่อนนอน ซึ่งจะทำให้นอนหลับได้ยาก
- พยายามหลับให้ได้ด้วยตัวเอง อาจกำหนดกิจวัตรก่อนนอน เช่น อาบน้ำอุ่น หรือ อ่านหนังสือเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายก่อนเข้านอน หลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับ
การป้องกัน อาการนอนไม่หลับ
หากภาวะการนอนไม่หลับอาจะยังไม่เป็นปัญหาเรื้อรัง แต่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน หรือ ภาวะอารมณ์ ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาอย่างถูกต้องต่อไป เพราะภาวะการนอนไม่กลับอาจส่งผลต่อร่างกายอื่นๆ เช่น ริ้วรอยรอบดวงตา หรือ ใต้ตาคล้ำหรือดำ ซึ่งพฤติกรรมการนอนดึก นอนน้อย ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รอบดวงตาของเราเกิด ใต้ตาดำ เนื่องจากเส้นเลือดมีการขยายตัว ทำให้เห็นเป็นรอยคล้ำใต้ตาและทำให้ดวงตาดูอิดโรย เช่นกัน
การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ จึงเป็นอีกวิธีที่ทำให้ร่างกายมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง ห่างไกลจากภาวะโรคต่างๆ และลดการอุบัติเหตุอันตรายต่างๆ ได้อีกด้วย
คำถามที่พบบ่อย (2)
-
ง่วงนอนมาก แต่นอนไม่หลับ เพราะอะไร
ภาวะนอนหลับยาก อาจมีความสัมพันธ์กับภาวะวิตกกังวล หรือ มีความเครียดเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol Hormone) ถูกกระตุ้นให้หลั่งมากขึ้น
-
สะดุ้งตื่นกลางดึก เกิดจากอะไร
สะดุ้งตื่นกลางดึก (Hypnic jerk) เป็นภาวะหดตัวของกล้ามเนื้อขณะหลับนอนอย่างกะทันหัน จนทำให้เกิดอาการสะดุ้งตื่นเวลานอน บางครั้งอาการสะดุ้งตื่น เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ทำให้นอนไม่หลับ เช่น ความเครียด หรือ การอดนอน