ดูแลผิวเด็ก,อาบน้ำเด็ก,สบู่เด็ก

การดูแลผิวและอาบน้ำในเด็ก และความสำคัญของสบู่

อ่านแล้ว 1 นาที
แสดงบทความเพิ่มเติม

การดูแลผิวและอาบน้ำในเด็ก และความสำคัญของสบู่

การอาบน้ำนอกจากจะเป็นการชำระล้างสิ่งสกปรกและเชื้อโรคออกจากผิวหนัง การอาบน้ำยังเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยเติมความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง ช่วยให้ร่างกายได้ผ่อนคลายและถือเป็นหนึ่งในกิจวัตร ประจำวันที่สำคัญของทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยเด็ก โดยมีการศึกษาพบว่าการอาบน้ำในช่วงเย็นจะช่วยทำให้ทารกเข้านอนได้ง่ายขึ้นและนอนได้นานขึ้น

วิธีอาบน้ำเด็ก

วิธีการอาบน้ำเด็กในประเทศไทยมีหลายวิธี วิธีที่นิยมใช้ได้แก่

  • การอาบน้ำด้วยฝักบัว
  • การอาบน้ำโดยใช้ขันตักน้ำ
  • การอาบน้ำโดยการแช่ในอ่างอาบน้ำหรือกะละมังในเด็กเล็ก
  • รวมถึงการเช็ดตัวทำความสะอาด

 

มีคำแนะนำให้เลือกวิธีการอาบน้ำมากกว่าการเช็ดตัว เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าค่าความชุ่มชื้นของผิวหนังและค่าความแข็งแรง ของเซลล์ผิวหนังมีค่าสูงกว่าเมื่อใช้วิธีการอาบน้ำ และควรเลือกใช้วิธีการอาบน้ำด้วยฝักบัวหรือการอาบน้ำโดยใช้ขันตักน้ำ มากกว่าการอาบน้ำโดยการแช่ในอ่างอาบน้ำหรือกะละมัง เนื่องจากการแช่อยู่ในน้ำนานเกินไปจะส่งผลเสียให้ผิวหนังขาดความชุ่มชื้น และยังสามารถทำให้แบคทีเรียตัวไม่ดีเจริญเติบโตมากขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดโรคที่ผิวหนัง โดยเวลาในการอาบน้ำที่เหมาะสมคือ 5-10 นาที

อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการอาบน้ำเด็ก

อุณหภูมิของน้ำเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญต่อสุขภาพผิว ควรอาบน้ำโดยใช้อุณหภูมิน้ำในช่วง 27-30 องศาเซลเซียส การอาบน้ำที่อุณหภูมิสูงเกินไปอาจทำให้ผิวแห้ง ผิวหนังเหี่ยวหรืออาจทำให้เลือดคั่ง เซลล์ประสาทอ่อนล้า การอาบน้ำในอุณหภูมิที่เหมาะสมจะช่วยให้เลือดมาเลี้ยงที่ผิวหนังดีขึ้น ป้องกันการสูญเสียความร้อนออกจากผิวหนัง เมื่ออาบน้ำเสร็จควรเช็ดตัวด้วยผ้าเช็ดตัวให้แห้งทันทีตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้าและควรดูแลผิวด้วยการทาสารเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังทันทีหลังอาบน้ำ

การดูแลผิวเด็กและทารก

ในสภาะวะปกติผิวหนังจะมีค่าความเป็นกรดด่างหรือค่า pH (potential hydrogen) อยู่ที่ 5.4-5.49 กล่าวคือเป็นกรดอ่อนๆ แต่ในสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปผิวหนังจะมีค่าความเป็นด่างมากขึ้น ไม่ว่าจะเกิดจากการเผชิญกับมลภาวะ อยู่ในที่ที่อากาศร้อนหรือชื้นมากเกินไปหรือมีโรคผิวหนัง เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นต้น เมื่อผิวหนังมีค่าความเป็นด่างมากขึ้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำงานของเซลล์ผิวหนังโดยเฉพาะชั้นหนังกำพร้า ทำให้สูญเสียคุณสมบัติในการเป็นเกราะป้องกันให้แก่ร่างกาย ส่งผลให้ผิวหนังสูญเสียความชุ่มชื้น ผิวหนังไวต่อสารระคายเคืองและเชื้อโรค ทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนัง รวมถึงอาการคันหรือติดเชื้อที่ผิวหนังตามมาได้ ดังนั้นการอาบน้ำร่วมกับการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหนังที่เหมาะสมจะช่วยชำระล้างสิ่งสกปรกและเชื้อโรคที่อยู่บนผิวหนัง อีกทั้งยังช่วยปรับสมดุล pH ของผิวหนังได้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับการอาบน้ำโดยไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด

 

ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหนังที่มีจำหน่ายในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ สบู่ (soap) มีฤทธิ์เป็นด่าง (pH>7) และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหนังที่ไม่ใช่สบู่ (synthetic detergent, syndet) มีฤทธิ์เป็นกลางหรือเป็นกรดอ่อนๆ (pH<7) ปัจจุบันแนะนำให้เลือกใช้ syndet ที่มีค่า pH 5-5.5 ในการทำความสะอาดผิวเนื่องจากมีค่าความเป็นกรดใกล้เคียงกับผิวหนังปกติ ทำให้เกิดการระคายเคืองน้อยและสามารถลดความเป็นด่างของผิวหนังที่อยู่ในสภาวะไม่ปกติ ช่วยปรับสมดุลค่า pH ของผิวหนังให้กลับมาใกล้เคียงกับภาวะปกติได้มากที่สุด โดย syndet ส่วนมากมีสารลดแรงตึงผิวที่เหมาะสม ไม่ใส่สีหรือสารกันเสีย ปราศจากน้ำหอมและผ่านการทดสอบแล้วว่าปลอดภัยกับผิวหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กและทารกที่มีผิวหนังบอบบางและเกิดการระคายเคืองได้ง่าย

 

การเลือก Moisturizer ในเด็ก ที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis)

การทาสารเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง (Moisturizer) ในผู้ป่วยที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) เป็นการรักษาขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดและจำเป็นมาก โดยต้องทำเป็นประจำสม่ำเสมอไม่ว่าจะมีผื่นอักเสบที่ผิวหนังหรือไม่ก็ตาม เนื่องจากการทาสารเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังเป็นทั้งการรักษาผื่นอักเสบ ช่วยลดอาการคันและยังสามารถป้องกันหรือลดการกำเริบของผื่นได้ อีกทั้งยังช่วยลดการใช้ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ได้อีกด้วย

การเลือกซื้อครีมทาผิวเด็ก

ในปัจจุบันสารเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดมี 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

1. สารเพิ่มความชุ่มชื้นทั่วไป

มีคุณสมบัติช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว ข้อดีคือมีจำหน่ายทั่วไป ราคาไม่สูง มีให้เลือกหลากหลาย มีหลายเนื้อสัมผัส แต่อาจจะมีส่วนผสมที่สามารถก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือทำให้ผื่นผิวหนังอักเสบแย่ลงได้ เช่น มีน้ำหอม สารกันเสีย เป็นต้น ดังนั้นสารเพิ่มความชุ่มชื้นทั่วไปจึงเหมาะกับผู้ที่ไม่เป็นโรคผิวหนังและผู้ที่ไม่มีผิวหนังบอบบางหรือมีความเสี่ยงในการเกิดผื่นแพ้ระคายเคือง

2. สารเพิ่มความชุ่มชื้นประเภทเวชสำอาง (Pharmaceutical moisturizers)

คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่รวมเอาคุณสมบัติของเครื่องสำอางและ/หรือยาไว้ด้วยกัน กล่าวคือนอกจากสารเพิ่มความชุ่มชื้นประเภทเวชสำอาง จะมีคุณสมบัติในการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ยังมีส่วนประกอบที่สำคัญคือสารลดการอักเสบหรือบรรเทาอาการต่างๆที่มีฤทธิ์เสมือนยา มีคุณสมบัติในการลดการอักเสบของผื่นผิวหนังได้ จึงส่งผลให้สามารถลดปริมาณการใช้ยาทาลดการอักเสบโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มยาทาสเตียรอยด์ ตัวอย่างของสารลดการอักเสบที่อยู่ในสารเพิ่มความชุ่มชื้นประเภทเวชสำอาง เช่น สารลิโคชาลโคน เอ (Licochalcone A) เป็นสารสกัดจากชะเอมเทศมีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบของผิวหนัง สารเมนทอกซี่โพแพนไดออล (menthoxypropanediol) มีคุณสมบัติช่วยลดอาการคัน เป็นต้น ดังนั้นสารเพิ่มความชุ่มชื้นประเภทเวชสำอางจึงเหมาะอย่างยิ่งกับผู้ที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เนื่องจากโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นโรคผิวหนังที่มีสภาพผิวแห้งและมักมีการอักเสบของผิวหนังบ่อยครั้ง การทาสารเพิ่มความชุ่มชื้นประเภทเวชสำอางจึงเป็นทั้งการรักษาและการป้องกันอาการของโรค อีกทั้งสารเพิ่มความชุ่มชื้นกลุ่มนี้มักไม่ก่อให้เกิดการระคายเนื่องจากไม่มีสารกันเสีย ไม่มีน้ำหอม ผ่านการทดสอบและมักมีการศึกษารองรับถึงประสิทธิภาพในการร่วมรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ข้อด้อยของสารเพิ่มความชุ่มชื้นประเภทเวชสำอางคือราคาสูงกว่าสารเพิ่มความชุ่มชื้นทั่วไป

การทาครีมหรือโลชั่นสำหรับเด็ก

วิธีการทาสาร เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังเด็กและทารก ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดคือ การทาสารเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังภายใน 3 นาทีหลังอาบน้ำ เพื่อเก็บกักความชุ่มชื้นของผิวหนังให้ได้มากที่สุด โดยควรทาสารเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งหลังอาบน้ำ และควรใช้ปริมาณของสารเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังให้เหมาะสมต่อความต้องการในแต่ละช่วงอายุ เช่นควรทาปริมาณ 100 กรัมต่อสัปดาห์ในทารกและเด็กเล็ก เป็นต้น